
<h3><span style="color: #800000;">จดหมายถึงพรานบุญ : สิ่งที่รัชกาลที่ 6 พบเห็นจากภาคใต้</span></h3> <p> </p> <p> </p> <p> </p> <p><br />จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เนื้อหาเป็นการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจตามเส้นทางการเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. 2452 (ร.ศ. 128) ระหว่างวันที่ 8 เมษายน – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 รวม 54 วัน</p> <p> </p> <p>พระราชหัตถเลขาฯ มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุรายวันจำนวน 12 ฉบับ บันทึกเหตุการณ์นับแต่เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช ตามลำดับดังนี้</p> <p> </p> <p><br />เป็นที่น่าสังเกตว่าพระราชหัตถเลขาฯ ทุกฉบับนั้น ทรงใช้พระนามแฝงในฐานะข้าราชบริพาร ชื่อ “นายแก้ว” บันทึกเหตุการณ์ตามเส้นทางเสด็จฯ ในแต่ละวัน และทยอยส่งจดหมายกลับกรุงเทพฯ เพื่อรายงานแก่ “ท่านพรานบุญ” ซึ่งทรงใช้เป็นพระนามแฝงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนกนาถ</p> <p><br />ซึ่งที่มาของนามแฝงที่ใช้ในไทย เริ่มจากนักเขียนไทยเริ่มใช้นามปากกาหรือนามแฝงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีเจ้านายชั้นสูง และขุนนางไปศึกษาต่อในต่างประเทศกันมาก การอ่านและการแปลวรรณกรรมจากต่างประเทศ คงเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนไทยริเริ่มแต่งวรรณกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น และบทละคร ผู้แต่งเหล่านี้จึงเริ่มใช้นามปากกาในการเขียนหนังสือเช่นเดียวกับนักเขียนต่างประเทศ เช่น พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงรุ่นแรก ใช้นามปากกา แม่วัน ในการแปลนวนิยาย เรื่อง ความพยาบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ว่า ท้าวสุภัตติการภักดี เป็นพระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์เรื่อง โคลงนิราศท้าวสุภัตติการ</p> <p> </p> <p>ความสำคัญของเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดนี้มีเนื้อหาเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานที่เสด็จประพาสต่าง ๆ โดยละเอียดตลอดเส้นทางแล้ว ยังสอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับตำนานท้องถิ่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน และข้อคิดต่าง ๆ ไว้อย่างแยบยล ด้วยสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย ยังผลให้ผู้อ่านได้รับสาระอย่างเพลิดเพลิน</p> <p><br />ฉบับที่ 1 ระหว่างวันที่ 8 – 12 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ทรงบรรยายถึงบรรยากาศการเสด็จทางทะเล และเรื่องราวของผู้ที่ตามเสด็จ เมื่อถึงปากน้ำชุมพร เสด็จทอดพระเนตรการเก็บรังนกที่เกาะลังกาจิว และประทับแรมที่เมืองชุมพร</p> <p>ฉบับที่ 2 ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองชุมพรโดยกระบวนช้างเพื่อเดินทางสู่เมืองระนอง ประทับแรมที่อำเภอกระบุรี</p> <p>ฉบับที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 – 19 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จถึงเมืองระนองและประทับ ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองระนอง เช่น สุสานเจ้าเมืองระนอง บ่อน้ำพุร้อน เป็นต้น</p> <p>ฉบับ 4 ระหว่างวันที่ 20 – 25 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองระนองโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมืองตะกั่วป่า เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองระนอง เช่น สุสานเจ้าเมืองระนอง เช่น เขาพระนารายณ์ เขาเวียง และทอดพระเนตรเทวรูปที่เขาเหนอ เป็นต้น จากนั้นเสด็จโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมือภูเก็ต</p> <p>ฉบับที่ 5 ระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน พ.ศ. 2452 เสด็จถึงเมืองภูเก็ต มีพระราชกรณียกิจสำคัญ เช่น ทรงเปิดถนนเทพกษัตรีย์ ถนนวิชิตสงครามเห และโรงเรียนปลูกปัญญา</p> <p>ฉบับที่ 6 ระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากภูเก็ตโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมืองพังงา เสด็จประสถานที่ต่าง ๆ เช่น เขาพิงกัน ถ้ำพุงช้าง ถ้ำน้ำผุดเป็นต้น</p> <p>ฉบับที่ 7 ระหว่างวันที่ 4 – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองพังงาโดยเรือพระที่นั่งถลางไปยังเมืองกระบี่ เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ถ้ำลอด และเกาะปันหยี เกาะลันตา จากนั้นเสด็จต่อไปยังเมืองตรัง โดยเรือพระที่นั่งถลาง</p> <p>ฉบับที่ 8 ระหว่างวันที่ 8 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จถึงเมืองตรังจากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อทอดพระเนตรสถานที่ราชการ และตลาดเมืองตรัง</p> <p>ฉบับที่ 9 ระหว่างวันที่ 12 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองตรัง</p> <p>ฉบับที่ 10 ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองตรัง เช่น เขาขาว เขาปินะ เป็นต้น</p> <p>ฉบับที่ 11 ระหว่างวันที่ 21 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จเมืองนครศรีธรรมราชทอดพระเนตรวัดพระเนตรวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โบสถ์พราหมณ์ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ ฯลฯ และทรงเปิดการแสดงเรื่อง “ปล่อยแก่”</p> <p>ฉบับที่ 12 ระหว่างวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 เสด็จออกจากเมืองนครศรีธรรมราชโดยเรือพระที่นั่งถลาง และเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ</p> <p> </p> <p>ภายหลังที่เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 ต่อมาโปรดให้พิมพ์หนังสือ “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้” ขึ้นในปีเดียวกัน ดังปรากฏหลักฐานจากคำชี้แจงในการพิมพ์ครั้งแรก ความว่า</p> <p> </p> <p><em>“จดหมายเหตุเหล่านี้ ความตั้งใจเดิมก็ชั่วแต่จะส่งข่าวแต่โดยย่อ ๆ มาลงในหนังสือพิมพ์ “ชวนหัว” เพื่อให้ผู้ที่อยู่ทางสวนจิตรลดาได้ทราบระยะทางที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้ แต่ครั้นเขียน ๆ ไป ข้อความก็พิศดารขึ้นทุกที และจดหมายเหตุแต่ละฉบับก็ยืดยาวมากขึ้น แม้จะลงใน “ชวนหัว” ก็จะต้องแบ่งลงไปคราวละเล็กละน้อย จนอีกนานกว่าจะได้ลงตลอด เห็นว่ากว่าจะได้รู้เรื่องราวตลอดก็จะเนิ่นนานไปมาก จะชักให้ผู้อ่านคอยเบื่อนัก และเรื่องราวที่เล่าก็จะไม่เป็นเรื่องสดเสียแล้ว จึ่งตกลงรวบรวมจดหมายเหตุเหล่านี้ พิมพ์ขึ้นเสียในคราวเดียวเป็นเล่ม เพื่อจะได้จำหน่ายไปในหมู่ผู้ที่มีน่าที่เกี่ยวข้องอยู่ในส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ให้อ่านกันเล่นพอเป็นที่เพลิดเพลินในหมู่กันเองเท่านั้น”</em></p> <p> </p> <p> </p> <h3> </h3> <h3><span style="color: #800000;">อ้างอิง</span></h3> <p>กรมศิลปากร. (2558). จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้. กรุเทพฯ : กรมศิลปากร.</p> <p><br />http://119.46.166.126/self_all/selfaccess9/m3/193/lesson3/page1.php</p> <p> </p> <p> </p> <p> </p>
วันที่แก้ไขล่าสุด : 29 กันยายน 2563