เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึงผลุบโผล่อยู่บนปฏิทินอยู่ร่ำไป ไม่เหมือนเพื่อนอีก 365 วันที่จะเป็นขาประจำทุกปี ครั้งสุดท้ายที่เราเจอปีที่มี 366 วันคงจะเป็นวันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 แรม 7 ค่ำ ปีมะแม แต่ทำไมถึงต้องสร้างวิธีนับชวนสับสนแบบนี้?
คณิตศาสตร์นับดาราศาสตร์ชี้
เราอาจจะเข้าใจว่าปีหนึ่งมี 365 วัน หรือ 366 ถ้าเป็นปีที่มีชื่อเรียกเท่ๆ ว่า “อธิกสุรทิน” แปลตามภาษาบาลีสันสกฤตว่า “ปีที่มีวันเพิ่มขึ้นมา” แต่จริงๆ การโคจรรอบตัวอาทิตย์ของโลกนั้น ไม่ได้ใช้เวลา 365 หรือ 366 วันอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจ เพราะโลกใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365.24218 วัน หรือแปลงเป็นหน่วยที่เข้าใจกันง่ายๆ คือ 365 วัน 5 ชม. 48 นาที 46 วินาที ซึ่งเศษที่เหลือนี่แหละจะกลายเป็นวัน 366 ในทุก 4 ปีนั้นเอง เพื่อเป็นการปรับให้ 1 ปีเท่ากับการโคจรรอบตัวอาทิตย์หนึ่งครั้ง (หรือดวงดาวเดินทางกลับมาที่เดิมในยุคโรมัน)
การต่อสู้ของอำนาจบนแผ่นปฏิทิน
แล้วที่วันที่ 29 มาจากไหน? นักวิชาการสมัยยุคกลาง Johannes de Sacrobosco ตั้งทฤษฏีว่าวันที่ 29 นั้นก็มีส่วนเกิดจากการต่อสู้ทางอำนาจบนปฏิทินในยุคโรมัน ซึ่งมีเดือนกุมภาพันธ์เป็นเหยื่อของออกัสตัสซีซาร์ ย้อนกลับไปในยุคของซีซาร์คนก่อนหน้าออกัสตัส คือ จูเลียสซีซาร์ ในยุคนั้นเดือนกุมภาพันธ์มี 30 วัน เหมือนเดือนทั่วๆ ไป ส่วนเดือนที่ตั้งชื่อตามวันเกิดของเขาคือกรกฎาคม (Julius- July) ได้วันเพิ่ม 1 วัน เป็น 31 ส่วนสิงหาคมนั้นมี 29 วัน เมื่อออกัสตัสซีซาร์ขึ้นสู่ตำแหน่งเขาได้ “ขอยืมวัน” จากเดือนกุมภาพันธ์ 2 วัน เหลือ 28 วัน พร้อมกับตั้งชื่อให้กับเดือนเกิดของตัวเองใหม่ คือ สิงหาคม (Augustus-August) ทำให้สิงหาคมมี 31 วัน ระบบนี้ถูกสืบทอดจากปฎิทินจูเลียนมาจนถึงปฎิทินเกรกอเรียนที่ใช้กันในปัจุบัน
เดือนกุมภาพันธ์ในไทย
เดือนกุมภาพันธ์นั้นถูกอิมพอร์ตเข้ามาในสยามช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นผู้เสนอให้ใช้ราศีกำหนดชื่อเดือน เรียกว่า “เทวะประติทิน” ซึ่งเป็นการนับปฏิทินสุริยคติ (นับตามดวงอาทิตย์) แบบสากล จากการใช้ปฏิทินจันทรคติ (นับตามดวงจันทร์) ในพ.ศ. 2432 ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวสู่ความสากลของสยามประเทศเลยทีเดียว
อ้างอิง
http://www.zcooby.com/29-february-leap-year-leap-day/ days, 5 hours, 48 minutes, and 46 seconds long
http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/12177017/Leap-Year-2016-Why-does-February-have-29-days-every-four-years.html
https://www.huffingtonpost.com/2012/02/29/leap-year-2012-science-february-29-video_n_1309996.html
วันที่แก้ไขล่าสุด : 28 กุมภาพันธ์ 2561